ประวัติตำรวจภูธรภาค 3

" ...โรงเรียนนายร้อยตำรวจ สมัยเริ่มแรกที่นครราชสีมา ในรัชสมัยของรัชการที่ 5 ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ตั้งกรมตำรวจภูธรขึ้น แทนกรมพลตระเวนหัวเมือง โดยให้เป็นกรมขึ้นในสังกัด กระทรวง มหาดไทย และกองตำรวจภูธรได้ขยายไปตามมณฑลต่าง ๆ ด้วยเหตุที่มีการจัดตั้งกรมตำรวจภูธรขึ้นและขยายไปตามมณฑลต่าง ๆ เป็นอันมาก ประการหนึ่ง ประกอบกับในสมัยนั้น บ้านเมืองอยู่ในสภาพไม่ปกติ คือ มีพวกเงี้ยวก่อการจราจล ในจังหวัดแพร่ และจังหวัดน่าน จนต้องส่งกำลังตำรวจไปปราบปราม (ปรากฏตามประวัติ นายพันตำรวจเอก พระยาทรงพลภาพ ( เผื่อน พลธร ) ไปราชการปราบเงี้ยวก่อการจราจล ที่จังหวัดแพร่ และจังหวัดน่าน ในปี 2445 - 2446 ) .....เข้าใจว่า นายตำรวจสัญญาบัตรคงมีไม่พอ โรงเรียนนายร้อยตำรวจภูธรมณฑลนครราชสีมา ตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2444 พื้นที่ตั้งโรงเรียนชาวพื้นเมืองเรียกว่า "ประตูผี" ทางราชการเรียกว่า ประตูชัยณรงค์ ต่อมาเป็นที่ตั้งของกองบังคับการตำรวจภูธรเขต 3 นครราชสีมา

ภาพกองบัญชาการตำรวจภูธร 2 (เดิม)

ภาพกองบัญชาการตำรวจภูธร 2 (เดิม)

การปกครองบังคับบัญชา

ผู้บังคับบัญชานักเรียนนายร้อยตำรวจในสมัยนั้น มี นายร้อยโท ม.ร.ว.แดง ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกองตำรวจภูธรจังหวัดนครราชสีมา และทำหน้าที่ผู้บังคับการโรงเรียนนายร้อยตำรวจภูธรด้วย นายร้อยโท ต่วน , ว่าที่นายร้อยตรี เจ้าฟั่น ณ น่าน , ว่าที่นายร้อยตรี ภู และว่าที่นายร้อยตรี โต เป็นผู้ช่วย การปกครองและฝึกหัดสั่งสอน มี นายร้อยเอก ออกัส ฟิกเกอร์ เฟรดเดอริก คอลส์ ซึ่งเป็นที่ไว้วางใจของเจ้ากรมตำรวจภูธร มอบหมายให้เป็นผู้ปกครองอบรมนักเรียนนายร้อยตำรวจภูธรโดยเด็ดขาด ในสมัยเริ่มแรก กรมตำรวจภูธรมิได้วางหลักสูตรโรงเรียนนายร้อยตำรวจไว้อย่างเป็นกิจลักษณะ การปกครองและการฝึกอบรม จึงอยู่ที่ นายร้อยเอก คอลส์ จะเห็นสมควร นักเรียนนายร้อยตำรวจคนใดมีบุคลิกลักษณะเหมาะสม มีระเบียบวินัยดี การฝึกหัดเข้มแข็ง มีความรู้ข้อบังคับและกฎหมาย ซึ่งนายร้อยเอกคอลส์เห็นว่าเป็นนายร้อยตำรวจตำรวจภูธรได้ เจ้ากรมตำรวจภูธรก็รับฟัง และออกคำสั่งบรรจุตามความเห็นของรายร้อยเอก คอลส์ เรื่อง เกี่ยวกับ การปฏิบัติหน้าที่ในการปกครองบังคับบัญชาและฝึกอบรมนักเรียนนายร้อยตำรวจ ภูธรของ นายร้อยเอก คอลส์ พ.ต.อ.มงคล จีระเศรษฐ ได้กล่าวถึงไว้ตอนหนึ่งสรุปได้ดังนี้..... ".....นักเรียนนายร้อยตำรวจภูธรสมัยนั้น ใครมีระเบียบวินัยแข็งแรง ครูคอลส์เห็นเหมาะสม ก็ให้สวมหมวกหม้อตาลสีขาว ให้อยู่หัวแถว แสดงว่าพร้อมที่จะออกเป็นนายตำรวจ.." *ฯลฯ

*อนุสรณ์นักเรียนนายร้อยตำรวจ รุ่น 6, 2495: ไม่มีเลขหน้า

ภาพกองบัญชาการตำรวจภูธร 2 (เดิม)

ภาพกองบัญชาการตำรวจภูธร 2 (เดิม)

ข้อมูลเกี่ยวกับโรงเรียนนายร้อยตำรวจภูธร นครราชสีมา พ.ศ.2444 สรุปความและคัดจาก หนังสือเรื่องกิจการตำรวจสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ (พ.ศ.2435 - พ.ศ.2458)

"....5.โรงเรียนนายร้อยตำรวจงานชิ้นโบว์แดงอีกชิ้นหนึ่งในสมัยที่เสด็จใน กรมดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย ก็คือการจัดตั้งโรงเรียนนายร้อยตำรวจภูธรขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย อันถือได้ว่าเป็นต้นกำเนิดของโรงเรียนนายร้อยตำรวจปัจจุบันซึ่งมีอาคาร อันทันสมัย อาณาเขตกว้างขวางประมาณ 400 ไร่ ทิวทัศน์อันสวยงาม บางขณะนี้เดิมมีประวัติความเป็นมาอย่างไร เมื่อได้อ่านบทความนี้แล้ว จะเห็นได้ว่านี่คือผลงานชิ้นหนึ่งซึ่งเกิดขึ้นในสมัยสมเด็จกรมพระยาดำรง ราชานุภาพ หลังจากที่ได้ทรงจัดตั้งกรมตำรวจภูธรตำรวจภูธรขึ้น เมื่อ พ.ศ.2440 โดยมีพลตรีพระยาวาสุเทพ (ยี.เชา) เป็นเจ้ากรมแล้ว ก็ได้มีการริเริ่มตั้งโรงเรียนนายร้อยตำรวจภูธรขึ้น เมื่อ พ.ศ.2444 ในจังหวัดนครราชสีมา ที่ตั้งโรงเรียนนั้นชาวพื้นเมืองเรียกว่า "ประตูผี" แต่ทางราชการให้ชื่อว่า "ประตูชัยณรงค์" คือที่ ตั้งกองบังคับการตำรวจภูธรเขต 3 จังหวัดนครราชสีมาในปัจจุบันนี้ โดยมีหลักการรับนักเรียน ที่สำเร็จประโยคประถม (ขณะนั้นเทียบชั้นมัธยมปีที่ 3) เข้ารับการศึกษาอบรมเป็นนายตำรวจชั้นสัญญาบัตร การที่จัดตั้งโรงเรียนนี้ขึ้น มีความมุ่งหมายที่จะให้นักเรียนนายร้อยตำรวจได้รับการศึกษา ทางฝ่ายปกครอง กับวิชาการตำรวจ รวมทั้งวิชาทหารควบคู่กันไป นายตำรวจในครั้งนั้น โดยมากโอนมาจากกระทรวงกลาโหมทั้งสิ้น ขาดความรู้ในทางวิชาการตำรวจและการปกครอง การผลิตนายตำรวจจากโรงเรียนนายร้อยตำรวจภูธรได้ผลดีต่อทางราชการเป็น ลำดับ นายตำรวจภูธรในสมัยนั้นมีชื่อเสียงมากในด้านความรู้และวินัย เป็นที่รักใคร่ นับถือของประชาชน และเป็นที่น่าเกรงขามของคนร้ายยิ่งนัก ผู้บังคับบัญชานักเรียนตำรวจในสมัยนั้น มี ร.ท.ม.ร.ว.แดง ดำรงตำแหน่งผู้บังคับการกองตำรวจภูธรจังหวัดนครราชสีมา และทำหน้าที่ผู้บังคับการโรงเรียนนายร้อยตำรวจภูธรด้วยอีกตำแหน่งหนึ่ง มี ร.ท.ต่วน และว่าที่ ร.ต.เจ้าฟั่น ณ น่าน ว่าที่ ร.ต.โต เป็นผู้ช่วย แต่การปกครองและการฝึกอบรม มี ร.ต.ออกัส ฟิกเกอร์ เฟรดเดอริก คอลส์ ชาวเดนมาร์ค เป็นผู้ดำเนินการแต่ผู้เดียว ท่านผู้นี้เข้ามาในประเทศไทยครั้งแรก รับราชการกองทัพบก แล้วภายหลัง มารับราชการกองทัพเรือ มีหน้าที่ฝึกสอบการยิงปืนใหญ่เป็นผู้ต้องอัธยาศัยของนายพลตรีพระยาวาสุเทพ ซึ่งได้รับพระมหากรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง เจ้ากรมตำรวจภูธรในสมัยนั้น เห็นว่า ร.อ.คอลส์ เป็นที่ไว้วางใจได้ จึงขอโอนมาเป็นผู้ปกครองอบรมนายร้อยตำรวจภูธรที่จังหวัดนครราชสีมา โดยเด็ดขาด ทั้งนี้ เพราะสมัยนั้นเป็นสมัยเริ่มแรก กรมตำรวจภูธรมิได้วางระเบียบและหลักสูตรของโรงเรียนให้เป็นกิจลักษณะแต่ อย่างใด การปกครองและฝึกอบรมแล้วแต่ ร.อ.คอลส์จะเห็นสมควร นักเรียนนายร้อยตำรวจนั้นปรากฏว่า เวลาเรียนไม่เหมือนกัน คือ เรียน 3 เดือนบ้าง 5 เดือนบ้าง แล้วก็ออกมาเป็นนายร้อยตำรวจภูธร โดยไม่มีการสอบความรู้เหมือนในสมัยปัจจุบัน คงจะเนื่องด้วยเป็นระยะแรกของการเริ่มต้นมีโรงเรียนนายร้อยตำรวจ เพื่อให้ได้ปริมาณนายตำรวจเพียงพอต่อความต้องการของทางราชการ บรรดานักเรียนนายร้อยตำรวจรุ่นนั้น ต่อมาภายหลัง ได้ดำรงตำแหน่งสำคัญผู้บังคับการที่มีสมรรถภาพบริหารราชการ เป็นประโยชน์แก่ราชการตำรวจภูธรเป็นอันมาก เช่น พ.ต.อ.พระยาเสนานนท์ พ.ต.อ.พระยา อนันตยุทธกาจ พ.ต.อ.พระยาสะท้านไตรภพฯ เป็นต้น การเข้าเป็นนักเรียน การเข้าศึกษาวิชาในโรงเรียนนายร้อยตำรวจภูธรในสมัยนั้น ไม่มีคราว ไม่มีสมัย ไม่มีการประกาศรับสมัครและสอบคัดเลือกเหมือนอย่างในปัจจุบันผู้ใดมีประสงค์ สมัครใจเข้าเป็นนักเรียนนายร้อยตำรวจ ก็ไปขอสมัครกับเจ้ากรมตำรวจภูธร เมื่อเจ้ากรมตำรวจภูธรดูรูปร่างหน้าตา ท่าที ท่าทาง กริยา วาจา เห็นสมควรก็อนุญาตแล้วส่งตัวไปเรียนที่จังหวัดนครราชสีมาเลยทันที นอกจากนักเรียนนายร้อยตำรวจแล้ว ทางราชการยังได้ส่งนักเรียนมหาดเล็กไปร่วมเรียนอีกด้วย คือ นักเรียนมหาดเล็กที่สอบเสร็จแล้วจวนจะออกรับราชการเพื่อให้ได้รับการฝึกหัด ยิงปืน ขี่ม้า ทำแผนที่ และตรวจท้องที่ เป็นต้น ทางราชการส่งนักเรียนมหาดเล็กออกไปร่วมเรียนในโรงเรียนนายร้อยตำรวจภูธรคราว ละ 30 - 40 คน นี้ เข้าใจว่าทางราชการตระหนักถึงสภาพความเป็นจริงว่าการปกครองบ้านเมือง จะให้เรียบร้อยร่มเย็นเป็นสุขได้นั้น สาระสำคัญอยู่ที่อำเภอ กับตำรวจสมัครสมานสามัคคีกัน จึงได้เริ่มให้นักเรียนทั้งสองจำพวกนี้ได้อยู่กินร่วมกัน ได้เรียนวิชาร่วมกันให้ฝึกอบรมลำบากตรากตรำร่วมกัน จะได้มีความเห็นอกเห็นใจ สมัครสมาน สามัคคีกันตั้งแต่ครั้งยังเป็นนักเรียน ครั้นออกมารับราชการ คือ นักเรียนนายร้อยตำรวจภูธร ออกเป็นนายตำรวจภูธร นักเรียนมหาดเล็กออกเป็นมหาดเล็กรายงาน และนายอำเภอ เมื่อมีโอกาสพบปะอยู่ร่วมราชการกัน ก็จะได้รู้อกรู้ใจกัน พอที่จะร่วมบริหารราชการแผ่นดินให้เป็นที่เรียบร้อย ยังความร่มเย็นเป็นสุขแก่ประชาชนพลเมืองทั่วกัน

* หนังสือกิจการตำรวจสมัยสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ( 2435 - พ.ศ.2458 ) หน้า 8-12

ภาพกองบัญชาการตำรวจภูธร 2 (เดิม)

ภาพกองบัญชาการตำรวจภูธร 2 (เดิม)